การปลูกปาล์มน้ำมัน ก็เหมือนกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืชเช่นเดียวกัน ได้แก่
1 ปัจจัยด้านพันธุกรรม(Gene) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันเป็นผู้รวบรวมและผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ เช่น บริษัท เอ.เอส.ดี. ของประเทศคอสตาริก้า (Agricultural Services & Development)
อ่านต่อซึ่งเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าด้านการพัฒนา ปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์อันยาวนานของโลก เพราะฉะนั้น ก่อนการเตรียมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน หรือทำสวนปาล์มน้ำมัน จะต้องตัดสินใจเลือกซื้อต้นกล้าปาล์มน้ำมันที่ดีที่สุด เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอีกปัจจัยหนึ่งในการทำสวนปาล์มน้ำมัน
2 ปัจจัยด้านแสงอาทิตย์ มีบทบาทในการปรุงอาหาร หรือ การสังเคราะห์แป้ง น้ำตาล ปริมาณของพลังงานแสงอาทิตย์ที่พืชได้รับ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันควรมีพื้นที่ปลูกตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น อย่างเช่นภาคใต้ของประเทศไทย เป็นต้น
3 ปัจจัยด้าน อุณหภูมิ,ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์,ก๊าซออกซิเจน,น้ำ,อาหารแร่ธาตุของพืช,พื้นที่ที่รากปาล์มสามารถหยั่งราก(Root Zone) ยึดให้ลำต้นตั้งอยู่ได้ กรณีที่บางพื้นที่ชั้นใต้ดินเป็นหิน ผิวหน้าดินบาง มีดินน้อย เมื่อนำต้นปาล์มไปปลูกทำให้ต้นปาล์มล้มลงได้ มีปรากฎอยู่ในพื้นที่ดินพรุในจังหวัดกระบี่
หลักการปลูกพืชหรือปลูกปาล์มให้ผลผลิตสูงสุด (ดร.ถวิล ครุฑกุล,2540 เกษตรยั่งยืน การใช้ดิน-ปุ๋ย หน้า 8-9) ได้สรุปหลักการไว้ดังนี้
“ …1 ใช้พืชพันธุ์ดี
2 ทำให้ดินบริเวณรากหยั่งถึง(Root zone)
3 ให้น้ำแก่พืชตรงตามความต้องการของพืช
4 ควบคุมให้ดินมีธาตุอาหารแร่ธาตุครบ ได้สัดส่วนและปริมาณตามความต้องการของพืชแต่ละระยะของการเจริญเติบโต โดยการใช้ปุ๋ยชนิดต่างๆ ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม
5 ทำให้ต้นพืชตั้งตรงตลอดเวลาของการเจริญเติบโต
6 ป้องกันปราบปราม กำจัดศัตรูพืชที่มารบกวนพืช… ”
หลักการทั้ง 6 ข้อนี้ ถือเป็นหลักสำคัญซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับการทำสวนปาล์มน้ำมันได้ และใช้เป็นแนวทางในการแสวงหาความรู้เฉพาะทางในด้านวิชาการเกี่ยวกับพืชปาล์มน้ำมัน
หากพิจารณาในด้านสภาพพื้นที่ของการปลูกปาล์มน้ำมันแล้วในพื้นที่ภาคใต้ ในปัจจุบัน ไม่ได้ยึดถือแนวคิดในเชิงทฤษฎี แต่ยึดแนวทางการปฏิบัติที่ปรากฎให้เห็นจริงๆ กล่าวคือ ใครที่สภาพที่ดินอย่างไร ก็ปลูกไปตามพื้นที่ที่มีอยู่ อย่างเช่น ที่ลุ่ม ที่ดอน ที่สูงเป็นภูเขา ไม่มีใครยึดแนวคิดเชิงทฤษฎีในภาคปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ข้อควรพิจารณาในการปลูกปาล์มน้ำมันในแง่ของสภาพพื้นที่ – ที่ดินที่เหมาะสม(เอกสารคำแนะนำเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมัน กรมส่งเสริมการเกษตร,2553 หน้า 2) ระบุไว้ว่า “…สภาพดินที่เหมาะสม คือดินร่วนเหนียว ถึงดินเหนียว มีความลึกของชั้นหน้าดินมากกว่า 75 เซนติเมตร อุ้มน้ำได้ดี ระดับน้ำใต้ดินลึก 75-100 เซนติเมตร มีธาตุอาหารสูง มีความเป็นกรดอ่อน pH 4.0 – 6.0 สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร มีความลาดชันไม่เกิน 12% พื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีการระบายน้ำถึงปานกลาง…”
ส่วนคำแนะนำเพิ่มเติมบางประการเกี่ยวกับพื้นที่เหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน(คำแนะนำการผลิตปาล์มน้ำมัน อย่างถูกต้องและเหมาะสม,2541,กรมวิชาการเกษตร หน้า 2-3) สรุปได้ว่า
1 สภาพพื้นที่
1.1 ความสูงจากระดับน้ำทะเล 0-300 เมตร
1.2 ความลาดเอียง 1-12%
1.3 พื้นที่ไม่มีน้ำท่วมถึง มีการระบายน้ำดีถึงปานกลาง
2 ลักษณะดิน
2.1 ดินร่วน หรือดินร่วนปนดินเหนียว มีความสามารถในการซับน้ำปานกลาง
2.2 ระดับน้ำใต้ดินลึก 75-100 ซม.
2.3 ความเป็นกรดด่างของดิน(pH) 4-6
3 สภาพภูมิประเทศ
3.1 พื้นที่ที่อยู่ระหว่างเส้นละติจูด 10 องศาเหนือ และ 10 องศาใต้
3.2 อุณหภูมิ 24-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดไม่ควรต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดไม่ควรเกิน 33 องศาเซลเซียส
3.3 ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 2,000 มม.ต่อปี มีการกระจายของน้ำฝนสม่ำเสมอ มีช่วงแล้งต่อเนื่องน้อยกว่าสองเดือนต่อปี
3.4 มีแสงแดดอย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อวันหรือประมาณ 1,800 ชั่วโมงต่อปี
3.5 ความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 75%
3.6 ไม่มีลมพายุ
4 แหล่งน้ำ
มีแหล่งน้ำสะอาดและมีปริมาณมากพอที่จะให้น้ำได้ในช่วงฤดูแล้ง หรือช่วงที่มีการขาดน้ำมากกว่า 200 มม.ต่อปี
จากข้อแนะนำที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ในสภาพ ณ.ปัจจุบันทุกจังหวัดในภาคใต้ของไทย แม้ทางราชการจะพยายามกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมเพื่อปลูกพืชแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับพื้นที่ตามแนวคิดทางวิชาการ แต่ปรากฎว่าการปลูกปาล์มน้ำมันที่ปรากฎการณ์จริงปลูกในทุกสภาพพื้นที่ ไม่ว่าที่ลุ่มก็มีการขุดคูร่องน้ำ เพื่อทำการระบายน้ำ อย่างเช่นที่ราบลุ่มน้ำปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการแปรสภาพจากการทำนากุ้งมาปลูกปาล์มน้ำมันเช่นกัน หรือพื้นที่ประกอบไปด้วยภูเขาสูง เช่นพื้นที่ของจังหวัดพังงาในหลายอำเภอ มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกยางพารา หันมาปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้ง พื้นที่จังหวัดระนอง และพื้นที่อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพรก็มีสภาพเป็นภูเขาสูง เกินกว่าจะยึดคำแนะนำของใครๆ หรือหน่วยงานภาครัฐ มาปฏิบัติได้