หนูเป็นศัตรูสำคัญของปาล์มน้ำมัน ในแปลงปลูกปาล์มน้ำมันใหม่มี หนูพุกใหญ่ หนูท้องขาว กัดแทะทำลายต้นปาล์มน้ำมันเล็กเป็นจำนวนมาก จนต้องมีการปลูกซ่อมใหม่ และในสวนปาล์มน้ำมันต้นใหญ่ให้ผลผลิตแล้วมีหนูศัตรูสำคัญ ได้แก่
อ่านต่อหนูป่ามาเลย์ หนูท้องขาว เป็นต้น
ข้อควรทราบก่อนทำการป้องกันกำจัดหนู
1 ข้อมูลการระบาดของหนู ก่อนที่จะทำการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ใดๆควรต้องทราบว่ามีหนูระบาดมากน้อยเพียงใด
2 มีร่องรอยของหนู เช่น รอยตีน ทางเดิน รูหนู ซากพืช ซากสัตว์ ที่ถูกหนูกัดแทะ
3 ถ้ามีการระบาดของหนูหรือพบร่องรอยของหนูมากจำเป็นต้องป้องกันและกำจัดหนูอย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นระบบ
4 ถ้ามีการระบาดของหนูน้อยหรือพบร่องรอยของหนูไม่มากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดหนู อาจใช้วิธีการดักด้วยกรงหรือกับดัก
ปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยหรือเป็นที่ผสมพันธุ์ของหนู เช่น กำจัดวัชพืชไม่ให้รก ควรอนุรักษ์สัตว์ที่กินหนูเป็นอาหารเช่น นกแสก แมวป่า งูสิง งูทางมะพร้าว งูเหลือม เป็นต้น
ลักษณะของหนูแต่ละชนิด
1 หนูพุกใหญ่หรือหนูแผง พบทั่วประเทศในพื้นที่ที่มีดงหญ้าคา หญ้าขน เป็นศัตรูสำคัญในสวนปาล์มน้ำมันที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี ลักษณะของหนูพุกใหญ่ เป็นหนูที่มีขนาดใหญ่คือน้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 480 กรัม วัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 4 เดือนขึ้นไป ระยะตั้งท้อง 23 – 30 วัน ให้ลูกปีละ 2 ครอกๆละ 5-8 ตัว
ลักษณะการทำลายกัดกินโคนต้นอ่อน ทางใบและผลปาล์มน้ำมันที่อยู่ใกล้กับพื้นดินเท่านั้น เนื่องจากเป็นหนูขนาดใหญ่ จึงไม่ชอบปีนป่ายต้นไม้พบมากในสวนป่าละเมาะดงหญ้าที่เกิดภายหลังการเปิดป่าใหม่ ป่าโกงกาง พบเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย หนูชนิดนี้ติดกรงดักได้ง่าย
2 หนูป่ามาเลย์ เป็นหนูขนาดกลาง ขนาดน้ำหนักตัว 55-152 กรัม ระยะตั้งท้องนาน 21-22 วัน จำนวนลูกต่อครอก 5 ตัว ระยะหากินโดยเฉลี่ย 25-30 เมตร
ลักษณะการทำลายหนูป่ามาเลย์ ชอบกินดอกตัวเมียและดอกตัวผู้ ตลอดจนผลปาล์มน้ำมันทั้งดิบและสุก เมื่อหนูป่ามาเลย์กินลูกปาล์มน้ำมันที่ร่วงบนพื้นดินมันจะขนลูกปาล์มน้ำมันไปกินใต้กองทางใบ หนูป่ามาเลย์จะเริ่มเข้าทำลายต้นปาล์มน้ำมันตั้งแต่ปาล์มน้ำมันปลูกใหม่จนถึงต้นปาล์มสิ้นอายุการให้ผลผลิต และจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจึงเป็นศัตรูปาล์มน้ำมันที่สำคัญที่สุด
แนวทางการป้องกันกำจัดหนูอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปีและมีหนูเข้าทำลาย 2 ระยะคือ ระยะปาล์มน้ำมันเล็ก หนูจะกัดกินทำลายต้นปาล์มน้ำมันแรกปลูกจนปาล์มอายุ 3 ปี และระยะที่ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตแล้ว หนูกัดกินผลปาล์มน้ำมัน
ระยะต้นปาล์มน้ำมันเล็ก (แปลงปลูกใหม่)
1 ถ้าพบร่องรอยหนูมาก ตอนปลูกควรใช้ตาข่ายลวดขนาด 0.5-1 เซนติเมตรหุ้มรอบโคนต้นปาล์มน้ำมัน ทำตอนปลูกเพื่อชะลอหรือขัดขวาง ไม่ให้หนูกัดต้นปาล์มน้ำมันได้สะดวก
2 ถ้าพบการทำลายบริเวณโคนต้น ต้องกำจัดหนูทันที โดยใช้ยาดำ 1 ส่วน ผสมกับปลายข้าว รำ กุ้งแห้ง 100 ส่วน คลุกให้เข้ากันวางบริเวณต้นปาล์มน้ำมันจุดละ 1 ช้อนชา ให้วางเหยื่อพิษชนิดนี้เพียงครั้งเดียว
ระยะที่ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตแล้ว
การป้องกันโดยไม่ใช้สารเคมี
1 การดักโดยใช้กรงดักและกับดักชนิดต่างๆเช่น กับดักตีตาย บ่วงลวด
2 การกำจัดวัชพืช หมั่นกำจัดวัชพืชรอบต้นปาล์มน้ำมันและบริเวณสวน เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนู
3 อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของหนูเช่น เหยี่ยว นกแสก โดยการสร้างรังสูงๆให้นกอาศัยอยู่ หรือไม่ฆ่าทำลายงูที่กินหนู ได้แก่ งูสิง งูทางมะพร้าง งูเหลือม เป็นต้น
ศัตรูปาล์มน้ำมันพวกแมลง
แมลงศัตรูปาล์มน้ำมันที่สำคัญหลายชนิด เป็นแมลงที่ทำลายใบปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะกลุ่มหนอนผีเสื้อทำความเสียหายรุนแรงได้แก่ หนอนหน้าแมว หนอนปลอกเล็ก ทำการป้องกันกำจัดยาก เนื่องจากมีปลอกหุ้มอยู่เสมอ
แมลงปีกแข็งที่สำคัญอีก 2 ชนิดได้แก่
1 ด้วงกุหลาบ กัดกินใบปาล์มน้ำมันตั้งแต่แรกปลูก
2 ด้วงแรด กัดเจาะยอดอ่อนปาล์มน้ำมัน ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต
การป้องกันกำจัด
การป้องกัน
1 หมั่นสำรวจการระบาดของหนอนเป็นประจำ เมื่อพลกลุ่มหนอนให้พ่นสารฆ่าแมลงกำจัดก่อนที่หนอนจะเพิ่มขยายจนเป็นวงกว้าง
2 ควรเลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุดเพราะแมลง ศัตรูธรรมชาติในสวนปาล์มน้ำมันเหล่านี้มีความสามารถในการควบคุมหนอนได้อย่างดี
3 ไม่ควรใช้สารเคมี กำจัดวัชพืชมากเกินไปและควรมีพืชคลุมอยู่บ้าง
การกำจัด
1 วิธีจับแมลงโดยตรง เช่น ตัดใบย่อยที่มีหนอนหรือจับผีเสื้อซึ่งเกาะนิ่งในเวลากลางวันตามใต้ทางใบปาล์มน้ำมัน หรือเก็บดักแด้ ตามซอกโคนทางใบ รอบลำต้นมาทำลายเสีย
2 ใช้กับดักแสงไฟ โดยใช้แสงไฟแบล็คไลท์ หรือหลอดนีออน ธรรมดาวางบนกะละมันพลาสติกซึ่งบรรจุน้ำผสมผงซักฟอกให้หลอดไฟอยู่เหนือน้ำประมาณ 5-10 เซนติเมตร วางล่อผีเสื้อ หนอนหน้าแมวในช่วงเวลา 18.00-19.00 น. สามารถช่วยกำจัดการขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้
3 ใช้สารฆ่าแมลงพ่น เริ่มพ่นตั้งแต่หนอนยังเล็ก ควรพ่นซ้ำที่เดิมอีก 1 ครั้ง ห่างจากครั้งแรกประมาณ 10 วัน ได้แก่ Sevin 85% อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
ที่มา จาก
กรมวิชาการเกษตร,ปาล์มน้ำมัน